“กรุงไทย” ชี้เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่าและโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยชะลอลง0.5% ตามที่ตลาดคาด
แต่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงกว่า 5.00% ในปีหน้า ยังสวนทางกับผู้เล่นในตลาด มองกรอบวันนี้ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.53 บาทต่อดอลลาร์ แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่และแข็งค่าจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงเมื่อเช้ามืดที่ผ่านมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนในฝั่งอ่อนค่าบ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงบ้าง เช่นเดียวกับในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งเราอาจเห็นแรงขายทำกำไรหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็อาจทยอยขายทำกำไรบอนด์ไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มเติมได้ หลังบอนด์ยีลด์ไทยได้ปรับตัวลงมาพอสมควรและจากผลการประชุมเฟดล่าสุด ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์แกว่งตัว sideways ได้ในระยะสั้นนี้
ทั้งนี้ เราประเมินว่า แนวรับสำคัญของ เงินบาท อาจอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทออกมาบ้าง ในขณะที่โซนแนวต้านสำคัญนั้น เราคงมองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า เพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น)
การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
แม้ว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง +0.50% สู่ระดับ 4.25%-4.50% ตามที่ตลาดคาด ทว่า แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงกว่า 5.00% ในปีหน้า จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถจัดการปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จนั้น กลับเป็นสิ่งที่สวนทางกับคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 4.50% ได้ในช่วงปลายปีหน้า ส่งผลให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนและปรับตัวลดลง นำโดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.76% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.61%
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.02% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตาผลการประชุมของเฟด รวมถึงผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทั้งนี้ โดยรวมผู้เล่นในตลาดมีความระมัดระวังตัวมากขึ้นและเลือกที่จะเข้าถือหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิกลุ่ม Healthcare (Novartis +1.6%, Sanofi +1.2%) หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อย่าง Nestle +1.4%m Unilever +1.1% ส่วนหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth กลับเผชิญแรงขายออกมาบ้าง อาทิ ASML -1.3%
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาพตลาดการเงินโดยรวมที่ปิดรับความเสี่ยง หลังรับรู้ผลการประชุมเฟด รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของบรรดานักลงทุน หลังเฟดมีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจและปรับเพิ่มอัตราการว่างงานสูงขึ้นในปีหน้า ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่อาศัยจังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.70% ระหว่างรับรู้ผลการประชุมเฟด เพื่อเพิ่มสถานะการคือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้สุดท้ายบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.50%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะย่อตัวลงกลับสู่ระดับก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯมีทิศทางชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ในอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่ชะลอลง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.7 จุด นอกจากนี้ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน โดยราคาทองคำมีการย่อตัวลงในช่วงแรกที่ตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะสามารถปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับ 1,818 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด
สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมของธนาคารกลางหลัก ทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเรามองว่า แม้โดยรวมภาพเศรษฐกิจยุโรป (ยูโรโซนและอังกฤษ) จะชะลอลงชัดเจน แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงถึง 10% ซึ่งจะทำให้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเลือกเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอลง(+50bps จาก +75bps) ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate ของ ECB ปรับขึ้นสู่ระดับ 2.00% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Bank Rate ของ BOE ก็จะปรับขึ้นสู่ระดับ 3.50% อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อมุมมองของทาง ECB และ BOE ต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (คล้ายกับสิ่งที่ตลาดจะจับตาต่อจากนี้ในส่วนของเฟด ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงจุดสูงสุดที่ระดับใด)
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Claims) ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า ผลกระทบจากการระบาดของCOVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาจะกดดันให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมซบเซาหนักในเดือนพฤศจิกายน โดยยอดค้าปลีก(Retail Sales) อาจหดตัวกว่า -3.9%y/y เป็นต้น อย่างไรก็ดี ตลาดประเมินว่า ข้อมูลเศรษฐกิจจีนดังกล่าวอาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว หลังล่าสุดทางการจีนได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 เพิ่มเติมนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างเริ่มคาดหวังว่า เศรษฐกิจจีนจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นชัดเจนในปีหน้า หากทางการจีนสามารถผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ได้ในที่สุด